LEARNING OUTSIDE THE CLASSROOM
สื่อการเรียนรู้ สื่อนอกห้องเรียน
จำปาดะ
การปลูกและการดูแล
จำปาดะ เป็นผลไม้ที่ชอบความชื้นและฝนตกชุก เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ดินเหนียวปนทราย ดินร่วนปนทรายที่มีอินทรีวัตถุสูง ไม่ชอบพื้นที่ลุ่มเนื่องจากไม่ทนต่อสภาวะน้ำท่วมขัง และสามารถปลูกแซมกับไม้ชนิดอื่นได้ดี
การปลูก ขุดหลุมกว้าง ลึก 1x1 เมตร ระยะห่างไม่น้อยกว่า 5x5 เมตร เนื่องจากจำปาดะเป็นไม้ผลขนาดใหญ่ รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอก กลบให้แน่น ไม่จำเป็นต้องรดน้ำ จึงควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน
การขยายพันธุ์ ทำได้ด้วยการเพาะเมล็ด ติดตา ต่อกิ่ง ทาบกิ่ง หากใช้วิธีเพาะจากเมล็ดมักจะมีผลผลิตใน 3 - 6 ปี แต่เสี่ยงต่อการกลายพันธุ์ ถ้าเป็นวิธีอื่น ๆ จะได้ผลผลิตเร็วขึ้นประมาณใน 3-4 ปี
การดูแล ใส่ปุ๋ยให้เหมาะสมกับอายุและระยะการเจริญเติบโต ใส่ปุ๋ยไนโตเจนเพื่อบำรุงต้น ใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมเพื่อบำรุงผล โดยระยะเวลาการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนหลังจากเก็บผลผลิต และแต่งต้น สำหรับปุ๋ยโพแทสเซียมใส่เมื่อเห็นดอกของจำปาดะ จำปาดะจะใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15
ตัดแต่งผล เลือกผลที่มีความสมบูรณ์ไว้ หากกิ่งไหนมีผลเยอะควรตัดออก ควรให้ติดผลเพียง 1 ผลต่อ 1 ขั้ว เพื่อลดการแย่งอาหารกัน ผลที่ได้มีขนาดใหญ่ สมบูรณ์ และมีคุณภาพ ควรตัดแต่งทรงพุ่มอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง แสงแดดส่องถึง ช่วยลดการเกิดโรคและแมลง
การตัดแต่งให้เหลือขั่วละ 1 ลูก
แมลงวันทองคือศัตรูตัวสำคัญของผลจำปาดะ ส่วนใหญ่จะเจาะผลเพื่อวางไข่ ทำให้ผลผลิตเสียหาย การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ การห่อผล
"โคระ" เป็นชื่อของวัสดุชนิดหนึ่ง ซึ่งจักสานมาจากใบมะพร้าว ใช้สำหรับห่อหุ้มผลไม้ เช่น จำปาดะ และขนุน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่คิดค้นกันมาตั้งแต่ บรรพบุรุษ เพื่อป้องกันแมลง และสัตว์ต่าง ๆ มารบกวน
การใช้โคระ จะนำโคระมาสวมผลจำปาดะแล้วใช้เถาวัลย์ผูกช่วยรั้งโคระให้ติดอยู่กับผลจำปาดะ
โคระใช้ได้ครั้งเดียว เริ่มห่อตอนทางมะพร้าวเขียว เมื่อจำปาดะผลโตขึ้น
โคระจะขยายขนาดตามผลและสีของโคระจะเปลี่ยน เป็นสีน้ำตาล
เมื่อทางมะพร้าวเริ่มแห้งเปื่อย ผลจำปาดะก็สุกพอดี ฉีกโคระเอาผลจำปาดะออกมาได้ง่าย
ทิ้งโคระไว้ใต้โคนต้นจะเป็นปุ๋ยธรรมชาติต่อไป
โคระทำจากใบมะพร้าว จะเป็นใบสดหรือแห้งก็ได้ ถ้าเป็นใบแห้งต้องแช่น้ำก่อน 1 คืน เพื่อให้ใบคลี่สะดวกต่อการสาน ประชากรในอำเภอลานสกาส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนผลไม้ และมีการปลูกจำปะดะกันเกือบทุกครัวเรือน โดยเฉพาะในโซนตำบลเขาแก้วมีการปลูกจำปาดะกันเป็นจำนวนมาก จึงทำการสานโคระ หรือ โคร่ ตามภาษาถิ่นทางภาคใต้ แต่ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชจะเรียกว่า กล หรือ รังจำปา ไว้ใส่ลูกจำปาดะตั้งแต่ลูกยังเล็กเพื่อป้องกันแมลงหรือศัตรูมาทำลาย แต่ในปัจจุบันโคระหาดูยากมาก
วิธีการทำกล หรือ รังจำปา
1. นำทางมะพร้าวมาประกบเข้าด้วยกัน
2. สานเป็นลายขัดจนครบทั้ง 3 ใบ
3. ใช้ไม้กลัด กลัดใบมะพร้าวที่สานไว้ไม่ให้หลุด
4. พลิกสานด้านตรงข้ามจนครบจนถึงปลายใบมะพร้าว
5. ดึงไม่กลัดออกแล้วรวบปลายใบมะพร้าวม้วนผูกปม
ปัจจุบันวิถีชาวสวนได้เปลี่ยนแปลงไป มีการนำถุงพลาสติกสีดำมาห่อผลจำปาดะแทนโคระ เพราะสะดวก หาซื้อง่าย ประหยัด และช่วยให้ผลมีสีสวยเนื่องจากทึบแสง นอกจากนี้ยังมีการนำถุงประเภทต่าง ๆ มาห่อผลด้วย เช่น กระสอบถุงปุ๋ย ถุงกระดาษ แต่การห่อด้วยวัสดุใด ๆ ไม่มีผลต่อรสชาติของจำปาดะ